9.25.2555

เพียรทำอย่างต่อเนื่องด้วยความละวาง



เคล็ดลับความสำเร็จของการฝึกโยคะอยู่ที่การฝึกทำอย่างต่อเนื่อง (
อภยาสะ) อันที่จริงเคล็ดลับนี้นำไปใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต เพราะการทำสิ่งต่างๆด้วยความต่อเนื่อง แต่ละครั้งที่ทำก็เท่ากับว่าเราเข้าใกล้จุดหมาย
ไปทุกที

การฝึกตนเองให้ทำสิ่งต่างๆได้อย่างต่อเนื่องนั้นมีเทคนิคง่ายๆคือ ให้เริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็กๆก่อน ครูบอกว่าถ้าเราเลือกเป้าที่ไกลและใหญ่มากเกินไป เราจะฝึกตนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่า ดังนั้น เราอาจจะตั้งใจง่ายๆแค่ว่า เราจะฝึก "โยคะอาสนะทุกวัน" ให้ได้เพียงวันละท่า หรือวันละ ๑๕ นาที เพียงเท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีได้ ขอเพียงทำให้ได้ทุกวัน และถ้าทำในเวลาเดิมได้ทุกวันยิ่งดี เพราะทั้งกายและใจจะได้รับการฝึกให้คุ้นชิน จน"การฝึกโยคะกลายเป็นธรรมชาติที่เราต้องทำทุกวัน" เหมือนการล้างหน้าแปรงฟัน

อีกประเด็นหนึ่งที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ คือ เรื่องของ"การละวาง" (
ไวราคยะ) เพราะการกระทำของเรา "หากเป็นไปด้วยความอยาก ก็ย่อมจะนำมาซึ่งความทุกข์ได้ง่าย" เช่น ถ้าเราอยากทำให้ได้เหมือนเพื่อน อยากทำให้ดีเหมือนเมื่อวาน เราก็จะมีแต่ความทะยานอยากที่เบ่งบานเพิ่มขึ้นในตนเอง

ครูมักจะบอกเสมอว่า "หากเราทำดีที่สุดแล้ว ก็ให้พอใจกับสิ่งที่เราทำได้ในวันนี้ เพราะนั่นคือสิ่งดีที่สุดสำหรับตอนนี้" หากเราเฝ้าแต่บ่นว่า เมื่อวานทำได้ ทำไมวันนี้ทำไม่ได้ นี่คือการไม่ละวาง ซึ่งจะทำให้เราเป็นทุกข์

นอกจากนั้น ถ้าขาด
"วิราคธรม" คือ "การละวาง" ไปเสียแล้ว เมื่อฝึกไปนานๆเข้าเราก็อาจจะหลงไปว่า ตนเองทำได้ดีแล้ว ซึ่งความคิดแบบนี้ "เป็นตัวขัดขวางความเจริญก้าวหน้า" ในการฝึกโยคะเป็นอย่างมาก

"การเปรียบเทียบทั้งกับตนเองและผู้อื่น เป็นต้นทางของความไม่ละวาง" ถ้าหยุดเปรียบเทียบได้เมื่อไร เราก็จะพัฒนา "วิราคะ" หรือ "ไวราคะ" คือ "ความละวาง" ได้มากขึ้นเท่านั้น

วรรณวิภา มาลัยนวล
 

7.11.2555

โยคะ วิถีชีวิต



ส่วนใหญ่ คนมักรู้จักโยคะในฐานะ "กีฬา" ชนิดหนึ่ง ที่จะช่วยให้เราหุ่นสวย กล้ามเนื้อกระชับ เลือดลมเดินดี ดูมีบุคลิก 

แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่า แท้จริงแล้ว โยคะไม่ใช่แค่เพียงกีฬา ท่วงท่าต่างๆไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย และคำว่า "โยคะ" ก็ไม่ควรถูกจับให้อยู่คู่กับคำกริยาว่า "เล่น" เท่านั้น

เพราะแท้จริงแล้ว โยคะเป็นมากกว่านั้น
โยคะ คือ วิถีชีวิต
โยคะ คือ ความสมดุลกับโลกภายนอกและภายในได้อย่างสมดุลและสงบสุขมากขึ้น
โยคะ คือ ธรรมะ
และที่สำคัญทีสุดก็คือ
โยคะ คืออีกหนทางหนึ่งสู่การเปิด "ตาใน" ของเรา
ให้เราได้เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้ร่างกาย และเรียนรู้จิตใจของเราด้วยตัวเราเอง
เมื่อได้ทำความรู้จักกันอย่างครบถ้วนและถูกวิธีแล้ว โยคะจะมอบทั้งความ "แข็งแกร่ง" และ "ยืดหยุ่น" ให้แก่ชีวิตของเรา ทำให้เราอยู่กับโลกภายในและโลกภายนอกได้อย่างสมดุลและสงบสุขมากขึ้น



คำถามเกี่ยวกับโยคะมักจะเกิดขึ้นเสมอพร้อมกับความคลาดเคลื่อนที่ไหลไปตามกระแสวัฒนธรรมการบริโภค ที่ว่าทุกอย่างในชีวิตต้องเร็วถึงจะดี ต้องมากถึงจะเก่ง

โยคะไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่แค่ฉีกซองใส่น้ำร้อน รอ ๓ นาทีก็ได้กิน
โยคะไม่ใช่ไวท์เทนนิ่ง ที่ทารักแร้ไม่กี่วัน ใต้วงแขนก็ขาวเนียน
โยคะไม่ใช่อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ทำให้เห็นผลได้ทันตาทันใจโยคะไม่ใช่บัตรเครดิตหลากสี อภิสิทธิ์เฉพาะของคนรุ่นใหม่ที่ใช้รูดปรี๊ดๆ
ครูบอกว่า "คนบางคนใช้เวลาทั้งชีวิต ตีความตำราโยคะเพื่อเข้าถึงแก่นของการฝึกฝนอย่างแท้จริง"
โยคะไม่ใช่แค่การทำท่าสวยสมบูรณ์แบบแล้วจะแปลว่าเก่ง แต่กลับเน้นที่ความสมดุลและผ่อนคลายมากกว่าจึงจะตรงกับเป้าหมายที่แท้จริงของโยคะ ซึ่งนำไปสู่ความหลุดพ้น เป็นอิสระ หรือ "โมกษะ"


ศาสตร์แต่ละศาสตร์ล้วนมีข้อดีในตัวเอง ถ้าเลือกที่จะเรียนรู้อะไร ก็ควรทำตามวิถีของศาสตร์นั้น ไม่ควรนำไปปะปนกัน ถ้าต้องการฝึกโยคะก็ต้องทำแบบโยคะ ถ้าต้องการออกกำลังกายก็ต้องไปออกกำลังกาย ในเมื่อ"โยคะไม่ใช่การออกกำลังกาย" จึงไม่ควรทำโยคะแบบออกกำลังกาย เพราะจะทำให้สูญเสียคุณค่าของสิ่งที่จะได้รับจากศาสตร์โยคะไป อีกทั้งกลายเป็นการทำลายโยคะทางอ้อมและเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ทุกวันนี้มีคนนำการฝึกแบบต่างๆมาใช้ แล้วก็เหมารวมเรียกว่า "โยคะ" จึงทำให้ความเข้าใจโยคะคลาดเคลื่อนไปจากของเดิมอย่างน่าเสียดาย






....จากหนังสือ โยคะ ธรรมะ สมดุลชีวิต

3.16.2555

ผิดไหมถ้าเราฝึกโยคะอยู่หลายปี แต่ไม่มีพัฒนาการในการทำท่ายากอะไรได้


ครูหนู ผิดไหมคะถ้าเราฝึกโยคะอยู่นานหลายปี แต่ไม่มีพัฒนาการในการทำท่ายากอะไรได้ เคยได้ยินมาว่าแค่ทำสูรยนมัสการให้ได้ทุกวัน วันละ ๑๕ นาทีก็พอแล้ว แต่จะมีท่ายากต่างๆไว้ทำไม สงสัยจริงๆค่ะ


ครูหนูตอบ >> คิดว่าไม่ผิดค่ะ เพราะ"เป้าหมายของโยคะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการฝึกท่าโยคะให้ได้ผาดโผนไปเรื่อยๆ" เพราะมนุษย์ทุกคนไม่ได้มีโครงสร้างร่างกายที่เหมือนกันนะคะ บางคนแข็งแรง บางคนมีข้อจำกัดร่างกาย บางคนได้ฝึกตั้งแต่อายุยังน้อย ดัดง่าย บางคนเริ่มตอนอายุมากแล้วก็ดัดยาก

คุณมีเป้าหมายในการฝึกโยคะเพื่ออะไรคะ ถ้าทำไปเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ก็ไม่ต้องกังวลกับการฝึกท่ายากไม่ได้ แต่ควรฝึกท่าพื้นฐานที่มีอยู่ให้ดีอยู่เสมอ เช่น การเข้าสู่ท่าที่ถูกต้อง ลมหายใจถูกต้อง แบบนี้เรียกว่ามีพัฒนาการที่ดีแล้ว แต่ถ้าตะบี้ตะบันฝึกท่ายาก ท่าโน้นท่านี้ ตามความอยากไปเรื่อยโดยไม่รู้เรื่องลมหายใจ หรือการเข้าท่าหรือค้างท่าที่ถูก มันก็เท่านั้น ไม่ได้อะไร!


สำหรับการฝึกสูรยนมัสการให้ได้ทุกวัน หรือถ้าคุณฝึกอย่างถูกต้องก็เพียงพอค่ะ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย


อุปมาของท่าโยคะโบราณที่มีท่ายากๆนั้น กล่าวไว้ว่า มีตั้ง ๘๔๐๐๐๐ ท่า เปรียบดังว่า "มากมายเสียเหลือเกิน" ไม่ต้องคิดมากค่ะ ทำไม่ได้คือทำไม่ได้ ดิฉันเป็นครูโยคะมามากกว่า ๒๐ ปีแล้ว ยังมีท่าโยคะมากมายที่ทำไม่ได้และไม่คิดจะทำ แต่สามารถสอนได้ เพราะ"ดิฉันจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ดูแลจิตมากกว่าค่ะ"


จากคอลัมน์ Ask the expert นิตยสาร Yoga Journal