2.05.2554

ลมหายใจกับท่วงท่าแห่งสติ

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการทำวิปัสสนา คือการนั่งหลับตาปั้นหน้าขรึม หรือการเดินจงกรมท่วงท่าสวยงาม นั่นเป็นเพียงภาพส่วนย่อย แต่วิปัสสนาที่แท้จริงของผู้ช่ำชองจะเกิดที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้ แม้กระทั่งยามที่เราฝึกโยคะ เมื่อใดมีสติรู้ตามจริงขึ้นมาว่าสิ่งที่กำลัง ปรากฎมีความไม่เที่ยง เป็นของที่บังคับดั่งใจไม่ได้ เมื่อนั้นเองที่เรากำลังอยู่ในวิปัสสนา 
เมื่อคุณเริ่มเห็นและรู้ตามจริงของสิ่งต่างๆที่ปรากฎแล้วว่ามันไม่เที่ยง บังคับและควบคุมไม่ได้ ถือว่าคุณตอบได้แล้วว่าวิปัสสนาคืออะไร คุณเริ่มออกเดินก้าวแรกเรียบร้อยแล้ว 


ก้าวต่อไป....


คำว่า "ได้สติ" ทำให้คุณนึกถึงอะไร? 
ลองนึกย้อนกลับไปดูว่า ขณะที่กำลังฝึกโยคะอยู่นั้นคุณมีสติแค่ไหน? บางคนอาจจะแอบตอบในใจว่า "ก็ต้องมีสติเต็มร้อยสิ" คุณแน่ใจกับคำตอบหรือไม่? ขณะที่กำลังฝึกโยคะคุณมีสติอยู่กับลมหายใจหรือเปล่า? เวลาก้มคุณหายใจเข้าหรือออก? แล้วเวลาเงยล่ะ? คุณรู้ตัวตลอดหรือไม่ว่ากำลังทำอาสนะไหนอยู่? เริ่มตันจากข้างซ้ายหรือข้างขวาก่อน? ใจและสติคุณอยู่กับตัวจริงๆ หรือคุณมาตกใจได้สติตอนเห็นเพื่อนๆเปลี่ยนอาสนะไปแล้ว 
เคยมั้ย ที่คุณสักแต่ว่าทำๆไปเพราะจำการต่อของอาสนะได้แม่นยำหรือดูคุณครูที่นำอยู่ข้างหน้าจึงทำไปได้เรื่อยๆโดยที่ใจก็ไปคิดถึงเรื่องงาน คนรัก ครอบครัว ลูก สัตว์เลี้ยง? คราวนี้ตอบได้หรือยังว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงของการฝึกโยคะ สติคุณอยู่กับลมหายใจเข้าและออกได้สักกี่นาที? 


เมื่อใดที่คุณมีสติอยู่กับลมหายใจและคุณสามารถตอบได้ว่า "คุณกำลังหายใจเข้าหรือออก" แปลว่า ณ วินาทีนั้นความคิด ความสงสัย และความฟุ้งซ่านทั้งหลายจะหายไปและถูกแทนที่ด้วยสติที่รู้ว่ากำลังหายใจเข้าหรือออก แต่เมื่อใดที่สติหลุดจากการรับรู้ลมหายใจ  เมื่อนั้นความคิด ความสงสัยและความฟุ้งซ่านทั้งหลายจะกลับมาอีก ตรงนี้ คือ จุดให้สังเกตความต่างระหว่างความคิดและไม่คิด ความฟุ้งและไม่ฟุ้ง สงสัยและไม่สงสัย 


แค่เราเห็นว่า "ทั้ง 2 สภาวะต่างกันอย่างไร" ก็เรียกว่ามีสติแบบวิปัสสนาอย่างอ่อนๆแล้ว คือ เห็นว่า เมื่อกี้จิตเป็นอย่างหนึ่งซึ่งผ่านไปแล้ว จบไปแล้ว ไม่ใช่ปัจจุบันแล้ว ตอนนี้จิตเป็นอีกอย่างหนึ่งแล้ว ตามธรรมชาติแล้ว เมื่อจิตเห็นสิ่งใดหายไป ย่อมไม่เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นตน แล้วจิตเห็นสิ่งไหนเป็นตน? คำตอบ คือ สภาพที่กำลังเป็นปัจจุบัน ที่กำลังอยู่ตรงหน้านี่แหละ เช่น ขณะที่เรากำลังฝึกโยคะอยู่ ใจเราแอบหนีไปคิดถึงแฟน แต่แ้ล้วเราก็สามารถมีสติรู้ได้ว่า "ขณะนี้ ชั้นกำลังทำท่าอรรถจันทราสนะอยู่" เมื่อเรามีสติรู้ว่า "ขณะนี้ ชั้นกำลังทำท่าอรรถจันทราสนะอยู่" เมื่อนั้น แฟนในความคิดเราจะหายวับไปทันที ตรงที่เรามีสติรู้ได้ว่า "ขณะนี้ ชั้นกำลังทำท่าอรรถจันทราสนะอยู่" ก็คือ ปัจจุบัน!!! 


ถ้าเข้าใจตรงนี้ได้ชัดเจน รวมทั้งมองออกว่าอะไรคือภาวะปัจจุบันที่เรากำลัง "เข้าใจผิด" หรือ "มองไม่เห็นตามจริง" ก็ถือว่า คุณเข้าใจพื้นฐานของวิปัสสนาชัดพอสมควรแล้ว


ต่อไปที่ต้องรู้ คือ มีอะไรในตัวเราให้ดูบ้าง?


อ้างอิง : หนังสือวิปัสสนานุบาล

2.03.2554

ฝึกโยคะไปพร้อมกับการปฏิบัติธรรม

ฝึกโยคะไปพร้อมกับการปฏิบัติธรรมได้หรือ ?
คำตอบ คือ ได้ เวลาฝึกโยคะจะเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัว ถ้าไม่ได้เพียงสักแต่ว่าทำๆไปแต่รู้จักน้อมใจไปดูว่า ณ ขณะนี้เราทำอะไรอยู่


เรื่มจากไหน ?
หลายคนคงเคยได้ยินและรู้จักคำว่า วิปัสสนา ซึ่งแปลได้หลายแบบ แต่ถ้าถามว่าวิปัสสนาคืออะไร สั้นๆ คือ " เห็นตามจริง " ว่าทุกสิ่งทั้งข้างนอกและข้างในเราไม่เที่ยง บังคับควบคุมให้เป็นไปตามอยากไม่ได้เพื่อปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นผิดๆ 


บางคนอาจเถียงในใจว่า "ไม่จริงหรอก ทำไมชั้นจะควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็นี่ไงชั้นกำลังสั่งให้ตัวเองทำสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่" ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้ เวลาที่เราฝึกโยคะ แล้วเราต้องทำท่าหนึ่งซึ่งต้องใช้การทรงตัวค่อนข้างมาก เช่น ต้องใช้การยืนด้วยขาข้างเดียว (นาฏราชาหรือครุฑาสนะ) คนส่วนใหญ่จะทรงตัวได้ดีและนานเมื่อใช้ขาขวายืน พอให้เปลี่ยนเป็นใช้ขาซ้ายยืนบ้าง เราก็หวังว่ามันจะมั่นคงเช่นเดียวกับเมื่อยืนด้วยขาขวา แต่เอ!ทำไมมันเซไปเซมาล่ะ? นี่ไงตัวเราที่เคยคิดว่า "ชั้นควบคุมตัวชั้นเองได้ทุกอย่าง" เห็นรึยังว่า ถ้าเรารู้ทันและเข้าใจสิ่งที่เกิิดขึ้น เราก็จะเห็นว่า อืม !! มันไม่เที่ยงนะ ร่างกายเราเอง เรายังบังคับไม่ได้เลย แล้วจะไปบังคับอะไรที่มันอยู่นอกตัวเราให้มันเป็นไปอย่างใจเราทุกอย่างได้ยังไง แต่โชคร้ายที่คนเรามักมองมาไม่ถึง ณ จุดนี้ เพราะอะไรล่ะ? ก็เพราะมัวแต่ไปโมโหตัวเองอยู่น่ะสิ ทำไมพอเปลี่ยนเป็นยืนด้วยขาซ้ายแล้วชั้นยืนได้ไม่ดีเหมือนขาขวาล่ะ ต้องทำได้เหมือนกันสิ ทีขาขวายังยืนได้ตั้งนาน ข้างซ้ายก็ต้องได้สิ ต้องได้ ยิ่งเครียดก็ยิ่งเกร็ง ยิ่งเกร็งก็ยิ่งเซ จะพาลล้มไปซะอย่างนั้น  


คราวหน้าลองคิดใหม่ดีมั้ย พอยืนไม่ได้หรือไม่นิ่ง ให้มีสติก่อน รู้ให้ทัน อย่าให้กิเลสชื่อ โทสะ หรือ โมหะ มาบังตา ให้คิดว่า เออหนอ! มันไม่เที่ยง ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ แล้วเราก็จะค่อยๆปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นผิดๆ พ้นจากอุปาทานครอบงำให้ทุกข์ใจกับเรื่องที่ไม่ควรเป็นธุระของเรา หน้าที่ของเรา คือ แค่เปลี่ยนมุมมองตัวเองเสียใหม่ ลองไม่เรียกร้อง ไม่ทำตามกิเลสแล้วเปลี่ยนมาเป็นคนดู คนรู้ รู้ตามความจริงตามสิ่งที่ปรากฎแทน แค่นี้คุณก็จะมีสติอยู่กับการฝึกโยคะอย่างมีความสุขและนำหลักการนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขเช่นกัน


อ้างอิง : หนังสือวิปัสสนานุบาล