2.03.2554

ฝึกโยคะไปพร้อมกับการปฏิบัติธรรม

ฝึกโยคะไปพร้อมกับการปฏิบัติธรรมได้หรือ ?
คำตอบ คือ ได้ เวลาฝึกโยคะจะเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัว ถ้าไม่ได้เพียงสักแต่ว่าทำๆไปแต่รู้จักน้อมใจไปดูว่า ณ ขณะนี้เราทำอะไรอยู่


เรื่มจากไหน ?
หลายคนคงเคยได้ยินและรู้จักคำว่า วิปัสสนา ซึ่งแปลได้หลายแบบ แต่ถ้าถามว่าวิปัสสนาคืออะไร สั้นๆ คือ " เห็นตามจริง " ว่าทุกสิ่งทั้งข้างนอกและข้างในเราไม่เที่ยง บังคับควบคุมให้เป็นไปตามอยากไม่ได้เพื่อปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นผิดๆ 


บางคนอาจเถียงในใจว่า "ไม่จริงหรอก ทำไมชั้นจะควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็นี่ไงชั้นกำลังสั่งให้ตัวเองทำสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่" ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้ เวลาที่เราฝึกโยคะ แล้วเราต้องทำท่าหนึ่งซึ่งต้องใช้การทรงตัวค่อนข้างมาก เช่น ต้องใช้การยืนด้วยขาข้างเดียว (นาฏราชาหรือครุฑาสนะ) คนส่วนใหญ่จะทรงตัวได้ดีและนานเมื่อใช้ขาขวายืน พอให้เปลี่ยนเป็นใช้ขาซ้ายยืนบ้าง เราก็หวังว่ามันจะมั่นคงเช่นเดียวกับเมื่อยืนด้วยขาขวา แต่เอ!ทำไมมันเซไปเซมาล่ะ? นี่ไงตัวเราที่เคยคิดว่า "ชั้นควบคุมตัวชั้นเองได้ทุกอย่าง" เห็นรึยังว่า ถ้าเรารู้ทันและเข้าใจสิ่งที่เกิิดขึ้น เราก็จะเห็นว่า อืม !! มันไม่เที่ยงนะ ร่างกายเราเอง เรายังบังคับไม่ได้เลย แล้วจะไปบังคับอะไรที่มันอยู่นอกตัวเราให้มันเป็นไปอย่างใจเราทุกอย่างได้ยังไง แต่โชคร้ายที่คนเรามักมองมาไม่ถึง ณ จุดนี้ เพราะอะไรล่ะ? ก็เพราะมัวแต่ไปโมโหตัวเองอยู่น่ะสิ ทำไมพอเปลี่ยนเป็นยืนด้วยขาซ้ายแล้วชั้นยืนได้ไม่ดีเหมือนขาขวาล่ะ ต้องทำได้เหมือนกันสิ ทีขาขวายังยืนได้ตั้งนาน ข้างซ้ายก็ต้องได้สิ ต้องได้ ยิ่งเครียดก็ยิ่งเกร็ง ยิ่งเกร็งก็ยิ่งเซ จะพาลล้มไปซะอย่างนั้น  


คราวหน้าลองคิดใหม่ดีมั้ย พอยืนไม่ได้หรือไม่นิ่ง ให้มีสติก่อน รู้ให้ทัน อย่าให้กิเลสชื่อ โทสะ หรือ โมหะ มาบังตา ให้คิดว่า เออหนอ! มันไม่เที่ยง ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ แล้วเราก็จะค่อยๆปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นผิดๆ พ้นจากอุปาทานครอบงำให้ทุกข์ใจกับเรื่องที่ไม่ควรเป็นธุระของเรา หน้าที่ของเรา คือ แค่เปลี่ยนมุมมองตัวเองเสียใหม่ ลองไม่เรียกร้อง ไม่ทำตามกิเลสแล้วเปลี่ยนมาเป็นคนดู คนรู้ รู้ตามความจริงตามสิ่งที่ปรากฎแทน แค่นี้คุณก็จะมีสติอยู่กับการฝึกโยคะอย่างมีความสุขและนำหลักการนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขเช่นกัน


อ้างอิง : หนังสือวิปัสสนานุบาล 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น