4.04.2554

WHY SUN SALUTATION??


สุริยนมัสการ เป็นอาสนะคลาสสิกท่าหนึ่งในโยคะศาสตร์ มีเรื่องราวน่าสนใจมากมายเกี่ยวกับอาสนะนี้ ที่หลายท่านอาจไม่ทราบมาก่อน

"สุริยะ" เป็นพระนามหนึ่งของพระอาทิตย์ ผู้เป็นบุตรแห่งเทพอาทิติ พระนามนี้มีความหมายว่า "ผู้มีแสงงาม" ความหมายนี้นับว่าเหมาะสมยิ่งนัก เพราะบรรดาสรรพสิ่งในจักรวาล จะหาสิ่งอื่นใดที่เปล่งแสงแรงกล้ายิ่งกว่าพระอาทิตย์เป็นไม่มี

ในฐานะเป็นอาสนะแห่งโยคะ สุริยนมัสการเป็นชื่อที่รู้จักกันดีในแวดวงชาวโยคะ ชื่อนี้แปลตรงตัวว่า "ท่าไหว้พระอาทิตย์" ยกย่องกันว่าเป็นท่าครู สำนักต่างๆมักกำหนดให้เป็นท่าเริ่มต้นในการฝึกโยคะแต่ละครั้ง คือ ฝึกก่อนที่จะเริ่มทำโยคะอาสนะอื่นๆ ปกติฝึกกัน 12 รอบตามจำนวนพระนามหลักของพระสุริยเทพในภาษาสันสกฤต แต่จำนวน 12 รอบนั้น ไม่จำเป็นต้องถือเป็นกฎตายตัว สุดแท้แต่ความเหมาะสมและแนวทางโยคะแต่ละสาย ธรรมเนียมการกราบไหว้พระสุริยเทพมีมาแต่ครั้งโบราณกาล 

พระนามอีกอย่างหนึ่งของพระอาทิตย์ คือ อังศุธร หรือ อังศุหัสต์ แปลว่า "ผู้ทรงพลัง" ซึ่งพระนามนี้เกี่ยวพันกับเรื่องราวของพระรามในคัมภีร์รามายณะด้วย

พระรามเป็นอวตารปางที่ 8 ของพระวิษณุเทพหรือพระนารายณ์ คราเมื่อพระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเป็นพระราม โอรสของท้าวทศรถแห่งเมืองอโยธยานั้น มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในพระราชสำนัก จนเป็นเหตุให้พระองค์ต้องเนรเทศตนเองออกจากเมืองไปบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า โดยมีพระนางสีดาชายาคู่พระหฤทัยและพระลักษมณ์ อนุชาผู้จงรักภักดีเป็นผู้ติดตาม 

ในระหว่างที่สามกษัตริย์ทรงพักอยู่ในป่านั้นเอง พระนางสีดาก็ถูกทศกัณฑ์เจ้ากรุงลงกาแอบลักพาตัวไป เป็นเหตุให้พระรามต้องออกติดตามและประกาศศึกกับกรุงลงกาเพื่อแย่งชิงพระชายากลับคืนมา แม้พระรามจะเป็นอวตารแห่งเทพผู็ยิ่งใหญ่ แต่ศึกครั้งนี้หนักหนาสาหัสนัก ด้วยทศกัณฐ์ก็ทรงอิทธิฤทธิ์ล้นฟ้าหาใดเทียมทัน ทั้งมี 20 หน้า 20 กร ยังเหล่าแม่ทัพและขุนศึกทั้งหลายก็มีชื่อระบือไกลว่า เก่งกาจด้วยวิทยายุทธสุดจะพรรณนา พระรามจึงเสด็จไปสู่สำนักของพระวิศิษฐดาบส เพื่อหยั่งถามความนัยในอันที่จะพิชิตฝ่ายปรปักษ์ลงให้ได้

"จงปฏิบัติสุริยนมัสการเป็นอาจิณ ทั้งยามรุ่งอรุณหรือยามสนทยา" พระดาบสทูลแนะนำ 
"เพราะเหตุใด พระคุณเจ้าจึงแนะนำเช่นนั้น" พระรามตรัสถาม 
"อันว่า พระสุริยเทพเป็นผู้ทรงพลังเปี่ยมด้วยมหิทธิฤทธิ์ นอกจากจะมีพลังไร้ผู้ใดเปรียบปานแล้ว พระสุริยเทพยังได้ชื่อว่า เป็นผู้ประทานพลังด้วย ผู้ใดปฏิบัติสุริยนมัสการเป็นนิจ ย่อมได้รับพลังอันยิ่งใหญ่ไว้ในตนไม่เสื่อมคลาย
"แต่ละครั้งคราวควรปฏิบัติสุริยนมััสการกี่วาระจึงสมควร" 
"พึงปฏิบัติตามกำลังแห่งตน หากแต่ว่าเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแก่ 12 พระนามหลักของพระสุริยเทพ สมควรปฏิบัติสุริยนมัสการ 12 รอบในแต่ละครั้ง" 

ผลจาการปฏิบัติสุริยนมัสการตามคำแนะนำของพระวิศิษฐดาบส ทำให้พระรามซึ่งทรงเทวฤทธฺ์มหิทธานุภาพเป็นอันมากอยู่แล้วยิ่งมีพลังกายใจสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอย่างสุดคณนา หลังการศึกอันยาวนาน พระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือกองทัพยักษ์แห่งกรุงลงกา สามารถช่วงชิงพระชายากลับคืนและในที่สุดทั้งสามกษัตริย์ก็ได้กลับสู่กรุงอโยธยา ท่ามกลางความยินดีปรีดาของบรรดาเหล่าพสกนิกรโดยถ้วนหน้า

โดยนัยนี้ โยคะศาสตร์จึงให้ความสำคัญแก่ท่าสุริยนมัสการหรือท่าไหว้พระอาทิตย์เป็นอย่างมาก ชาวโยคะที่ฝึกท่านี้อย่างถูกต้องครบถ้วน ย่อมรู้สึกได้ด้วยตนเองว่า อาสนะนี้ให้พลังกายและใจแก่ผู้ฝึกอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง การไหว้พระอาทิตย์เป็นการบริหารกายและจิตโดยตรง ส่วนใหญ่นิยมฝึกท่าสุริยนมัสการเป็นปฐม ก่อนที่จะฝึกอาสนะอื่นๆต่อไป ซึ่งเรื่องนี้มีเหตุผลทางวิชาการที่เหมาะสมอยู่หลายประการ

ในเบื้องแรกท่านควรรู้ว่า สุริยนมัสการไม่ใช่เป็นท่าเดียวโดดๆที่ฝึกรวดเดียวจบในตัวเอง แต่ประกอบขึ้นด้วยอาสนะต่างๆที่ต่อเนื่องกันเป็นสายลูกโซ่ ลีลาของแต่ละอาสนะที่ประกอบกันนี้ลัวนสัมพันธ์กันอย่างลงตัว ต่างเสริมกันและแก้กันตามลำดับ ทำให้สุริยนมัสการเป็นอาสนะที่ทรงพลังยิ่ง มีประสิทธิภาพสูงและมีผลดีต่อสุขภาพโดยรวม นอกจากนั้น การที่สุริยนมัสการ ได้รวมเอาอาสนะต่างๆอันหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้การฝึกสุริยนมัสการเพียงท่าเดียว มีผลเท่ากับฝึกอาสนะต่างๆหลายอาสนะไปพร้อมกันนั่นเอง โดยที่สุริยนมัสการมีลักษณะดังกล่าว จึงเป็นอาสนะที่เหมาะต่อการ "วอร์มอัพ" เพราะทำให้ร่างกายเกิดความร้อนและมีความยืดหยุ่นสูง เมื่อได้ฝึกครบ 12 รอบ ผู้ฝึกจะรู้สึกว่าร่างกายยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น ทั้งจิตใจก็ดิ่งลงสู่สมาธิระดับหนึ่งแล้ว จึงมีความพร้อมที่จะฝึกท่าอื่นๆต่อไปได้ 

กล่าวทางด้านกายภาพ ท่าสุริยนมัสการเป็นการบริหารร่างกายทุกส่วนอย่างสมดุล ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เมื่อฝึกเป็นประจำจะส่งผลให้ร่างกายยืดหยุ่น รูปร่างโดยรวมจะสวยงาม สมสัดส่วน กล้ามเนื้อกระชับ ไม่หย่อนยาน เป็นการชะลออายุ ทำให้ดูอ่ิอนกว่าวัย จึงเป็นท่าที่นิยมฝึกกันอย่างแพร่หลาย นอกจากนั้น สุริยนมัสการยังมีผลที่โดดเด่นด้านสุขภาพด้วย เพราะเป็นท่าที่มีผลต่อการกำจัดพิษในร่างกาย (Detoxification) เป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมต่อการบำบัดโรคหรือฟื้นฟูสุขภาพด้วยอาสนะอื่นๆที่จะปฏิบัติต่อไป แม้ท่านที่มีปัญหาเรื่องสมรรถนะทางเพศก็อาจแก้ปัญหาได้ด้วยสุริยนมัสการเช่นกัน

สุริยนมัสการเป็นท่าที่ฝึกง่าย ไม่ต้องใช้ความยืดหยุ่นสูง ไม่ว่าจะมีรูปร่างอย่างไรในเบื้องต้น ก็สามารถฝึกได้ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบนัก แต่เมื่อได้ฝึกอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถพัฒนากระบวนท่าให้ถูกต้องและพลิ้วไหวได้ สำหรับท่านที่ตัวแข็งสักหน่อย อาจปรับเปลี่ยนบางจุดให้สะดวกต่อการฝึกมากขึ้น เมื่อฝึกไปเรื่อยๆร่างกายจะยืดหยุ่นจนเพียงพอต่อการฝึกตามแบบมาตรฐานได้เอง 

ในขณะฝึก ควรระลึกอยู่เสมอว่า ทุกคนล้วนมีข้อจำกัดทางสรีระ มากหรือน้อยต่างกันไป จึงไม่ควรดูผู้อื่น ผู้ฝึกแต่ละคนควรระมัดระวังการเคลื่อนไหวของตนเองให้เป็นไปอย่างนุ่มนวลเชื่องช้า เพื่อพัฒนาสติและสมาธิให้สมบูรณ์ รู้เท่าทันการเคลื่อนไหวทุกขณะ จังหวะของการหายใจจะสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวเสมอ เมื่อการเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างช้าๆ การหายใจจึงยาวและลึกตามไปด้วย นี่เป็นเคล็ดลับที่สำคัญประการหนึ่ง นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวช้าๆอย่างมีสติจะช่วยป้องกันมิให้ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเคล็ดยอกหรือเจ็บปวดได้ เพราะอยู่ในความควบคุมของเราอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

อ้างอิง : ดร.สุนทร พลามินทร์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น