10.16.2554

ธาตุกำเนิด


ธาตุกำเนิด จะนับจาก ณ วันและเวลาที่เราถือกำเนิดขึ้น ซึ่งจะไม่เปลี่ยนแปลงและอยู่คู่กับเราตลอดไป แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 

1. ธาตุไฟ >> เกิด 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. 
2. ธาตุน้ำ >> เกิด 1 ก.ค. - 30 ก.ย.
3. ธาตุลม >> เกิด 1 ต.ค. - 30 ธ.ค.
4. ธาตดิน >> เกิด 1 ม.ค. - 30 มี.ค.

จากด้านบน (+/-) 15 วัน เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ต้นและปลายราศีจะกลืนกันกับราศีก่อนหน้าหรือราศีถัดไป เช่น เกิดช่วง 1 - 15 เมษา อาจจะผสมกันระหว่างธาตุดินและธาตุไฟ ส่วนผู้ที่เกิด 15 - 30 มิถุนา อาจจะผสมกันระหว่างธาตุไฟและน้ำ เป็นต้นค่ะ

การวินิจฉัยจะต่างจากการดูชะตาราศีทั่วไป เพราะธาตุกำเนิดวิเคราะห์ตามหลักอายุรเวท ธาตุกำเนิดมีผลต่อพฤติกรรม นิสัย และโครงสร้างต้นแบบเท่านั้น



1.ธาตุไฟ >> เกิด 1 เม.ย. - 30 มิ.ย.

         ใจร้อน โกรธง่าย หายเร็ว ไม่พยาบาท อารมณ์รุนแรงแต่ดับเร็ว ปากร้ายใจดี คิดเร็ว ทำเร็ว ฉลาด เหมาะเป็นผู้นำด้านต่างๆ ไม่มีความมั่นคงด้านจิตใจและอารมณ์ ความคิดสร้างสรรบรรเจิด ความคิดอาจเป็นผลร้ายต้อสุขภาพตนเอง ชอบกิจกรรมกลางแจ้ง อยู่นิ่งไม่ได้ ชอบผจญภัยทางความคิด ชอบทำตัวเป็นพี่คนโตเพราะเป็นราศีต้น (เม.ย. คือต้นปี) ปกติ คนเกิดมิ.ย. จะค่อนข้างดูยากมาก 



2.ธาตุน้ำ >> เกิด 1 ก.ค. - 30 ก.ย.

        เป็นผู้หญิงมาก โดยเฉพาะผู้ที่เกิดเดือนกันยาจะชัดมาก ถ้าเป็นผู้ชายจะเลี้ยงลูกเก่งเหมือนผู้หญิง ใจเย็น รักครอบครัว ไม่เจ้าชู้ มีความเป็นหญิงในตัว ใจกว้าง เป็นคนยอมรับอะไรๆได้ง่าย โครงสร้างจะท้วมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ชายที่เกิดเดือนกรกฎาจะชัดกว่าเพื่อน แขนขาจะเปราะง่าย ถ้าเป็นลูกชาย จะรักแม่มาก จะโรแมนติกมากเวลากลางคืน มีความรอบรู้ด้านสุขภาพอนามัย ยา และวิตามิน
ทั้งนี้ ผู้ที่เกิดวันที่ 1 - 15 กรกฎา อาจคาบเกี่ยวระหว่างสองธาตุ คือ ไฟกับน้ำ และผู้ที่เกิดตั้งแต่ 15 - 30 กันยา อาจคาบเกี่ยวระหว่างธาตุน้ำและลมค่ะ



3. ธาตุลม >> 1 ต.ค. - 30 ธ.ค.

        คล้ายธาตุไฟ คิดเร็ว ทำเร็ว เคลื่อนไหวเร็ว อยู่นิ่งไม่ได้ เป็นคนคิดแล้วคิดอีก เพราะจิตใจไม่มั่นคง คิดวางแผนได้ดี ถ้าเทียบกับธาตุไฟแล้ว จะอารมณ์เย็นและนิ่งกว่าเยอะค่ะ จะตรึกตรองสิ่งต่างๆว่าเหมาะหรือไม่เหมาะที่จะทำ เป็นคนตรงๆ มีวาทะศิลป์ในการพูดรอมชอม ความคิดอ่านตรงๆ ไม่เข้าข้างใคร เหมาะที่จะเป็นทนายหรือ้ไกล่เกลี่ยเรื่องต่างๆ เป็นคนวางแผนระยะยาว ปากจัด โดยเฉพาะผู่ที่เกิดเดือนพฤศจิกา แต่ปกติมักไม่ค่อยพูด ถ้าพูดอะไร มักเป็นจริง ผู้ที่เกิดกลุ่มนี้ มักจะสวยและหล่อ โดยเฉพาะ เด็กที่เกิดเดือนตุลา จะน่ารักที่สุด คนกลุ่มธาตุนี้ จะไม่พูดโกหกค่ะ



4. ธาตุดิน >> 1 ม.ค. - 30 มี.ค.

         คนเกิดเดือนมกรา จะเป็นคน conservative ชอบของเก่า โบราณ ด้านศิลปะวัฒนธรรม เหมาะที่จะเป็นผู้นำ คนกลุ่มนี้จะนิ่งๆ ดำเนินการอะไรมักไม่ค่อยล่ม เพราะไปอย่างช้าๆ ส่วนผู้ที่เกิดเดือนมีนา จะอ่อนไหว จิตใจไม่มั่นคง อยุ่กับความเป็นจริง อารมณ์ศิลปิน จะรับเอาอารมณ์ของทุกคนไว้หมด ไม่ควรปรึกษาอะไรด้วย ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำ ไม่ทำร้ายผู้อื่น แต่จะทำร้ายตนเอง คนกลุ่มธาตุนี้ จะจิตใจหนักแน่น มั่นคง ยกเว้นผู้ที่เกิดเดือนมีนา (เดือนมีนา ต้องแยกออกต่างหากจากกลุ่มนี้) ชอบสี earth tone ไม่ชอบสีสว่าง

10.12.2554

องค์แปดของโยคะ (Eight Limbs)


หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "อัษฎางคโยคะ" (Astanga yoga) ซึ่งหมายถึง "บันได 8 ขั้นสู่องค์สมาธิ" ที่พระศิวะได้วางไว้ให้ผู้ปฏิบัติโยคะต้องเดินตามเพื่อไปสู่สภาวะสูงสุดของจิตวิญญาณ หรือ "โมกษะ (นิพพาน นิรวรรณา)" องค์แปดหรือบันไดแปดขั้นมีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ

1. ยมะ (Yama) หมายถึง ทัศนะคติของเราที่มีต่อสิ่งต่างๆและคนอื่นๆรอบตัวเรา หมายถึง วินัย การยับยั้ง ทัศนคติ หรือ พฤติกรรม ซึ่งก็คือ "ศีล" ของชาวพุทธนั่นเองค่ะ ยมะมี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 

>> อหิมสา (Ahimsa) หมายถึง การไม่เบียดเบียนผู้อื่นและตนเอง ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ รวมถึงไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน หมายถึง ความกรุณา มิตรภาพ และการคิดถึงคนอื่นๆและสิ่งต่างๆอย่างใคร่ครวญ ตรงกับศีลข้อที่หนึ่ง

>> สัตยะ (Satya) หมายถึง การไม่พูดปด มีสัจจะวาจา ไม่โอ้อวดตน ไม่ข่มเหงผู้อื่น เราควรพิจารณาว่าจะพูดอะไร สิ่งที่เราพูดจะมีผลอะไรกับผู้อื่นหรือไม่ บทความหนึ่งจากมหาภารตะกล่าวว่า "จงพูดความจริงที่น่าพอใจ อย่าพูดความจริงที่ไม่น่าพอใจ จงอย่าพูดปด แม้ว่าถ้อยคำโป้ปดนั้นจะรื่นหู นี่คือกฎที่ไม่มีวันตายหรือธรรมะ" ตรงกับศีลข้อที่สี่

>> อัสเตยะ (Asteya) หมายถึง การไม่เอาอะไรที่ไม่ใช่ของเรา ไม่ลักขโมยทั้งสิ่งที่มีและไม่มีชีวิต ไม่หาประโยชน์จากผู้อื้น ตรงกับศีลข้อที่สอง

>> พรหมจรรย์ (Brahmacharya) หมายถึง การไม่ผิดลูกและภรรยาของผู้อื่นการมีสามีและภรรยาเดียว ตรงกับศีลข้อที่สาม

>> อปริครหะ (Aparigraha) หมายถึง การไม่สะสมทรัพย์เกินควร ไม่โลภ เอาเฉพาะสิ่งที่จำเป็นและไม่ฉวยประโยชน์จากสถานการณ์

2. นิยมะ (Niyama) หมายถึง ทัศนคติที่เราประยุกต์กับตัวเราเอง หรือจริยธรรมหรือข้อควรปฏิบัติ 5 ประการ

>> เศาจะ (Saucha) หมายถึง ความบริสุทธิ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ความสะอาดภายในจะเกี่ยวกับสุขภาพอวัยวะต่างๆในร่างกายทำงานได้ดี รวมทั้งความชัดเจนแจ่มใสของจิตใจ การฝึกอาสนะและปราณายามะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบรรลุถึงเศาจะภายใน

>> สันโดษ (Santosa) หมายถึง ความพอประมาณและความรู้สึกพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว การยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นและเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น หมายรวมถึงกิจกรรมทางจิตใจ

>> ตบะ (Tapas) หมายถึง ความอดทนอดกลั้น การตั้งมั่นในสิ่งที่เราทำอยู่ ความเคร่งครัด การจดจ่อ

>> สวาธยายะ (Svadhyaya) หมายถึง การใฝ่รู้ การศึกษาทางโลกและธรรม การศึกษาตนเอง การเรียนรู้ทุกชนิดที่ช่วยให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น

>> อีศวรประณิธาน (Isvara pranidhana) หมายถึง การศรัทธายึดมั่นในศาสนาและประเพณีที่เราปฏิบัติอยู่

3. อาสนะ (Asana) หมายถึง กระบวนการฝึกฝนทางร่างกายให้เกิดความคงทนและความสมดุลต่อการเจ็บป่วยและความเสื่อม เป็นกระบวนการพัฒนาเพื่อชะลอความเสื่อมของร่างกาย มีอาสนะพื้นฐาน 32 อาสนะ 

4. ปราณายามะ (Pranayama) หมายถึง การมีสติอยู่กับลมหายใจ การบริหารลมหายใจหรือลมปราณ

5. ปรัตยาหาระ (Pratyahara) หมายถึง การสำรวมอินทรีย์ การควบคุมอารมณ์ กิเลส พฤติกรรม ความรู้สึก ความต้องการ ความคิด ให้เป็นบวก ให้มีสติเท่าทันอารมณ์ ให้มีความสงบและเกิดปัญญา ประสาทสัมผัสทั้งห้าจะไม่ขึ้นกับสิ่งเร้าและไม่ถูกกระตุ้นโดยสิ่งเร้าอีกต่อไป เราไม่สามารถทำให้ปรัตยาหาระเกิดขึ้นได้ เราทำได้เพียงแค่ฝึกวิธีการที่อาจทำให้มันเกิดขึ้น

6. ธารณา (Dharana) หมายถึง การถอนอารมณ์จากสิ่งที่เรายึดมั่นอยู่ว่าเป็นของเรา การมีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่ทำหรือมุ่งความสนใจไปในทิศทางเดียว (ไม่ใช่สมาธิ)

7. ธยานะ (Dhyana) หมายถึง การเชื่อมโยงระหว่างตัวตนกับวัตถุ ต้องเกิดธารณาก่อนจึงจะมีธยานะ เนื่องจากจิตใจจำเป็นต้องจดจ่อกับวัตถุหนึ่งก่อนที่การเชื่อมโยงจะเกิดขึ้น

8. สมาธิ (Samadhi) เป็นเป้าหมายสูงสุดของการฝึกจิต เข้าสู่ภาวะสุญตา คือ ความว่าง สมาธิ คือ ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เมื่อเราสามารถดื่มด่ำกับอะไรบางอย่างจนจิตใจของเรากลายเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้นอย่างสมบูรณ์ นั่นคือ เราอยู่ในสภาวะสมาธิ

"ปรัตยาหาระ" เป็นกึ่งหฐ กึ่งราชาโยคะ "ธารณา ธยานะ และสมาธิ" เป็นราชาโยคะ ทั้งสี่องค์นี้ไม่สามารถฝึกฝนได้ โยคะสูตรจึงแนะนำให้ฝึก "อาสนะและปราณายามะ" เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับธารณา เนื่องจากทั้งสองอย่างนี้จะมีอิทธิพลต่อการทำงานของจิตใจและสร้างที่ว่างในใจที่ยุ่งเหยิง ทันทีที่ธารณาปรากฎขึ้นธยานะและสมาธิจะตามมา

อ้างอิง : หนังสือหัวใจแห่งโยคะ 

10.09.2554

โยคะมีกี่สาขา อะไรบ้าง


โยคะ มาจากคำว่า "ยุชระ" ซึ่งมีความหมายว่า การเชื่อม การผูกมัด ความสัมพันธ์ การติดต่อ การประสาน การรวมกันระหว่างสิ่งสองสิ่งซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงแต่ต้องไปด้วยกันเพื่อให้เกิดพลังงานที่มีชีวิต การเคลื่อนไหวและการมีสภาพคงอยู่ โยคะไม่ได้หมายถึงการหลุดพ้น คนที่จะหลุดพ้นได้ต้องฝึกโยคะจนหลุดพ้นจากโยคะ

โยคะจะผูกพันกับชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่เราตื่นขึ้นมาจนเราหลับและเกิดขึ้นตลอดเวลารอบๆตัวเรา เช่น การกิน-การขับถ่าย การนอน-การตื่น กลางคืน-กลางวัน ความร้อน-ความเย็น หิว-อิ่ม ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับโยคะทั้งสิ้น เกี่ยวข้องกับหยินหยางหรือ "ทวิภาวะ" ตลอดเวลา ทุกอย่างล้วนไม่เกิดขึ้นโดดๆอย่างเดียว เมื่อเกิดสิ่งหนึ่งขึ้นย่อมเกิดอีกสิ่งตามมา

การเรียนโยคะ เป็นการเรียนที่ว่าด้วย "จะทำให้สองสิ่งที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงเกิดความกลมกลืนหรือสมดุลกันได้อย่างไรในสภาวะที่เป็นอยู่" เช่น ทำไมเราถึงบิดตัวด้านซ้ายได้น้อยกว่าด้านขวา ทำไมเราถึงก้มตัวได้แต่แอ่นไม่ได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะทำให้ความแตกต่างระหว่างสองสิ่งนั้นเกิดความสมดุล เช่น เมื่อกินเข้าไป ก็ต้องถ่ายออกมา เมื่อนอนก็ต้องตื่น หากตัวเรามีความสมดุลแล้วก็จะสามารถปรับดุลยภาพเข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกได้ง่าย เปรียบเหมือนการทำตัวเหมือนน้ำที่ปรับเข้ากับภาชนะที่รองรับได้ทุกแบบ เริ่มจาก การดัดตัว เพื่อดัดใจให้อ่อนโยนเนื่องจากจิตใจบังคับยากแต่ร่างกายนั้นบังคับง่าย ดังนั้น หากบังคับลมหายใจได้ก็จะบังคับใจได้ จึงต้องเริ่มฝึกจากสิ่งที่หยาบที่สุดก่อน โยคะ คือ การปรับสมดุล ปรับสภาพของธาตุสี่ให้อยู่สายกลาง ต้องทำให้จิตใจและร่างกายสมดุลกันและไปด้วยกัน >>กายเคลื่อนไหว จิตใจสงบนิ่ง โดยมีลมปราณเป็นตัวประสาน

โยคะแบ่งเป็นสองประเภท คือ ราชาโยคะ และ หฐโยคะ

ราชาโยคะ (Raja yoga) 

เป็นโยคะภาคจิต เป็นโยคะชั้นสูง ฝึกให้มีจิตเมตตา มองสิ่งต่างๆเป็นแง่บวกเสมอ ฝึกวิปัสนา ฝึกให้จิตอยู่กับปัจจุบัน โยคีถือว่ามีความสำคัญน้อยกว่าการฝึกอาสนะเพราะใช้เวลาไม่นานในการฝึกหากร่างกายพร้อม จึงมีความสำคัญในตอนปลาย ซึ่งจะตรงข้ามกับความเห็นของคนทั่วไปที่ถือว่ามีความสำคัญตั้งแต่ต้น เพระาเมื่อจิตไม่ป่วยกายก็จะไม่ป่วยด้วย มีอยู่ทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่

1. ภักติโยคะ (Bhakti yoga) เป็นโยคะภาคศาสนา การบำเพ็ญเพียรในศาสนาของตนอย่างเคร่งครัด ความซื่อสัตย์ต่อสิ่งต่างๆที่เราทำ กลไกหรือวิธีการที่จะเข้าให้ถึงสภาวะสูงสุดของศาสนาที่เรานับถืออยู่

2. กรรมโยคะ (Karma yoga) เป็นการทำงาน การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบกิจกรรมใดๆก็ตามให้ตัวเองมีความสุข จิตใจว่างสงบ มองสิ่งต่างๆเป็นบวก เช่น พระกวาดลานวัด

3. มันตระโยคะ (Mantra yoga) เป็นกุศโลบายเพื่อทำให้จิตใจว่างแะสงบ เช่น การสวดมนต์ภาวนา

4. ตันตระโยคะ (Tantra yoga) เป็นพิธีกรรมของแต่ละศาสนา เป็นการเยียวยาทางใจ เช่น การก้มกราบพระ บายศรีสู่ขวัญ

5. ชาณะโยคะ (Jnana yoga) เป็นกลไกการดึงจิตให้มาอยู่กับปัจจุบัน เช่น 
ยุบหนอพองหนอ ซึ่งยังไม่ใช่สมาธิ เป็นเพียงการนั่งนิ่งๆพิจารณาสภาวะที่ปรากฎขึ้นมาก่อนเข้าสู่สมาธิเพื่อให้จิตมีฐานที่เกาะ

6. ลายาโยคะ (Laya yoga) เป็นการเรียนรู้พัฒนาทักษะ การเรียนสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้นควรฝึกกิจกรรมรองซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆเพื่อให้ร่างกายพัฒนาจะได้ไม่เสื่อม เช่น การเดินถอยหลัง เดินไปข้างๆ

หฐโยคะ (Hatha yoga)

เป็นโยคะภาคกาย คือ การฝึกฝนทางกายหรือฝึกอาสนะต่างๆเพื่อปรับดุลยภาพร่างกายให้คงทน ทนต่อโรคภัยไข้เจ็บ และให้สามารถดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้ รวมถึงการดูแลสุขภาพองค์รวม แบ่งเป็น 6 สาขา ได้แก่

1. อาสนะ (Asana) ได้แก่ ท่าทาง อิริยาบทต่างๆ ซึ่งมีอาสนะต่างๆมากมาย แต่อาสนะหลักจะมีทั้งหมด 32 อาสนะ ซึ่งเป็นอาสนะในการบำบัดรักษา นอกนั้น เป็นอาสนะที่กระจายออกไป

**การที่ตัวจะอ่อนหรือไม่ขึ้นอยุ่กับโครงสร้างร่างกายและสภาพจิตใจ เช่น ถ้าเครียดก็จะทำให้ร่างกายเกร็งตึงไปด้วย ควรเน้นที่การฝึกจิตใจมากกว่าดัดตัวให้อ่อน**

2. ปราณายามะ (Pranayama) เป็นกระบวนการพัฒนาบริหารลมปราณหรือลมหายใจ ในร่างกายเรา ลมปราณเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพระาเป็นตัวประสานระหว่างร่างกายและจิตใจ ปราณเป็นพลังชีวิต มีเป็นพันๆปราณให้ฝึก ต้องระวังอย่าฝึกแรงเกินไป หากจะฝึกปราณขั้นสูงควรมีครูแนะนำ

3. กุณฑลินี (Kundalini) หรือจักระโยคะ เป็นวิชาพลังงานซึ่งเกิดจากปราณและจิตที่นิ่งสงบ เป็นกระบวนการฝึกร่างกาย ลมปราณ และจิต เพื่อดึงเอาพลังงานที่ซ่อนอยุู่ในร่างกายของเราออกมาใช้ (คนทั่วไปจะดึงพลังงานในกายมาใช้ได้เพียง 8% และคนที่แข็งแรงจะดึงมาใช้ได้ 10% เท่านั้น) มีอยู่เจ็ดฐานใหญ่ตรงแนวกระดูกสันหลัง

4. กันธาวะโยคะหรือคนธรรพ์เวทย์ เป็นวิชาดนตรีที่จะถ่ายทอดเฉพาะในหมู่หรือกลุ่มเท่านั้น เป็นดนตรีบรรเลงทีใช้ในการบำบัด เพื่อให้เสียงบรรเลงเข้ากับคลื่นคอสมิคเพื่อปรับดุลยภาพร่างกายและจิตใจให้สมดุลกัน ซึ่งการฟังดนตรีนี้จะต้องฟังตามเวลา เปิดตาม"ปรหัส" มีทั้งหมดแปดปรหัส 

5. กริยาโยคะ (Kriya yoga) เป็นกระบวนการทำความสะอาดร่างกายหรือดีท็อกซ์ มีอยู่หลายวิธี ได้แก่ Brasti, Doti (การกลืนผ้า), Jala Neti (การล้างจมูก), Sutra Neti (การทำความสะอาดจมูกโดยใช้เชือก), Kunjal (การล้างลำไส้)

6. กรรมโยคะ (Karma yoga) เหมือนกับของราชาโยคะ 

10.05.2554

กำเนิดโยคะ จุดมุ่งหมาย และประโยชน์


โยคะ เป็นศาสตร์เก่าแก่อันทรงคุณค่ามีมาแต่โบราณประมาณได้ 7,000 ปี ถือกำเนิดในแถบเทือกเขาหิมาลัยรอยต่อระหว่างประเทศอินเดียและธิเบต เชื่อกันว่า พระศิวะเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิดเพื่อเป็นของขวัญแก่มนุษยชาติ 


จุดมุ่งหมายของการฝึกโยคะ
เพื่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ ฝึกร่างกายให้มีความคงทนและมีชีวิตยืนยาว โยคะไม่ใช่เรื่องของศาสนา ปรัชญาหรือลัทธิใดๆ แต่หากเป็นวิธีการดูแลสุขภาพ ร่างกายและจิตใจตามธรรมชาติ เป็นหลักสากลที่มนุษย์ทุกชาติ ศาสนา ทุกเพศ ทุกวัยจะฝึกได้


ความสำคัญของการฝึกโยคะ
การใช้ชีวิตปัจจุบันท่ามกลางความเร่งรีบ แข่งขัน ความเคร่งเครียด การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ล้วนทำให้ร่างกายขาดความสมดุล สะสมโรค และเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ โยคะ เป็นวิธีหนึ่งในการบำบัดและรักษาเชิงรุกตามแนวทางธรรมชาติ มีความปลอดภัยและสามารถนำไปใช้ในชิวิตประจำวันได้


ข้อแตกต่างของโยคะจากการออกกำลังกายแบบอื่น
> ปลอดภัย ไม่มีแรงกระแทก ผู้มีน้ำหนักตัวมากสามารถฝึกได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อข้อเข่า
> ไม่จำกัดอายุและเพศ ทุกคนสามารถฝึกได้ประโยชน์เสมอกัน
> มุ่งเน้นการผ่อนคลายทั้งร่างกาย ลมหายใจ และจิต
> ไม่มีสภาวะการแข่งขัน
> เน้นให้ชีพจรและหัวใจเต้นช้าลง ทำงานน้อยลง ถนอมเพื่อให้อายุยืนยาวขึ้น
> พัฒนาการยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ข้อต่อและเส้นเอ็นโดยการบิดและยืดตัว


ทำไมจึงควรฝึกโยคะ
โยคะเป็นมากกว่าการออกกำลังกาย โยคะ คือ วิธีการดูแลสุขภาพองค์รวมเชิงรุก ให้ผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ


ประโยชน์ที่ได้
> สุขภาพดีขึ้น
> เพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย
> ร่างกายมีความคงทน สุขภาพแข็งแรง ต้านโรคภัยไข้เจ็บได้ในระดับหนึ่ง
> ระบบการเผาผลาญ การขับถ่าย และการดูดซึมอาหารดีขึ้น
> การทำงานของหัวใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น
> ช่วยให้อวัยวะภายในทำงานได้ดีชึ้น
> ความจุของปอดเพิ่มขึ้น
> ปรับสมดุลให้ระบบประสาท
> ชะลอความเสื่อมของเซลส์ในร่างกาย
> ช่วยขับของเสีย ทำให้ร่างกายสะอาดและสดชื่นขึ้น
> ช่วยบำบัดและบรรเทาความเจ็บปวด เช่น ปวดข้อ ปวดหลังเรื้อรัง
> ลดระดับคลอเรสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด
> รูปร่างดีขึ้น
> ช่วยลดน้ำหนักส่วนเกิน เนื่องจากกลไกการเผาผลาญตามธรรมชาติปรับร่างกายเข้าสู่ภาวะสมดุล
> ปรับสมดุลโครงสร้างของร่างกายจากอิริยาบถในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้อง
> ช่วยให้่กล้ามเนื้อกระชับได้สัดส่วน
> เพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนัง
> ผิวพรรณดูอ่อนเยาว์ ชะลอความชรา
> จิตใจสงบ
> ผ่อนคลายความตึงเครียด ช่วยให้จิตใจสงบเยือกเย็น
> ลดอาการกระสับกระส่าย กังวล นอนไม่หลับ
> ทำให้มีสมาธิในการทำกิจการงานมากขึ้น
> ช่วยควบคุมจิตใจและความเครียดได้ดีขึ้น

10.04.2554

SUPTA PRUEKSASANA

กลุ่มอาสนะ Cool Down

อาสนะสุดท้าย สัปตะพฤกษาสนะ ( +/- )
>> เป็นอาสนะยืดตัวผ่อนคลาย


ประโยชน์
ผลต่อร่างกาย
1. ช่วยยืดข้อต่อทุกข้อ  การยืดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงข้อต่อและช่วยชะลอความเสื่อม
    ของข้อต่อนั้นๆได้
2. ช่วยยืดกล้ามเนื้อ หลอดเลือด และเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้หลอดเลือดเสื่อมช้า
3. ช่วยรักษาอาการบาดเจ็บเรื่้อรังของกล้ามเนื้อข้อต่อและเนื้อเยื่อ
4. ช่วยปรับสภาพการหมุนเวียนเลือดและการเกร็งตึงของกล้ามเนื้อให้อยู่ในสภาวะเหมาะสม
5. ช่วยปรับดุลยภาพของกระดูกข้อต่อ กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อให้อยู่ในภาวะเหมาะสมและ
    ถูกต้อง ดีมากสำหรับผู้ที่นั่งเอียงซ้ายหรือขวานานๆ

ผลต่อจิตใจ
1. ช่วยปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้เข้าสู่ภาวะปกติ
2. ช่วยให้จิตสงบนิ่งและฟื้นจากภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล

ข้อควรระวัง
1. เวลายืดตัว ให้ดันเท้าเข้าหาตัว อย่างุ้มปลายเท้า จะเป็นตะคริว
2. กดกระดูกสันหลังและเอวให้ติดพื้น ถ้าไม่ติดพื้น หลังจะแอ่น ทำให้ปวดหลัง