10.09.2554

โยคะมีกี่สาขา อะไรบ้าง


โยคะ มาจากคำว่า "ยุชระ" ซึ่งมีความหมายว่า การเชื่อม การผูกมัด ความสัมพันธ์ การติดต่อ การประสาน การรวมกันระหว่างสิ่งสองสิ่งซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงแต่ต้องไปด้วยกันเพื่อให้เกิดพลังงานที่มีชีวิต การเคลื่อนไหวและการมีสภาพคงอยู่ โยคะไม่ได้หมายถึงการหลุดพ้น คนที่จะหลุดพ้นได้ต้องฝึกโยคะจนหลุดพ้นจากโยคะ

โยคะจะผูกพันกับชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่เราตื่นขึ้นมาจนเราหลับและเกิดขึ้นตลอดเวลารอบๆตัวเรา เช่น การกิน-การขับถ่าย การนอน-การตื่น กลางคืน-กลางวัน ความร้อน-ความเย็น หิว-อิ่ม ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับโยคะทั้งสิ้น เกี่ยวข้องกับหยินหยางหรือ "ทวิภาวะ" ตลอดเวลา ทุกอย่างล้วนไม่เกิดขึ้นโดดๆอย่างเดียว เมื่อเกิดสิ่งหนึ่งขึ้นย่อมเกิดอีกสิ่งตามมา

การเรียนโยคะ เป็นการเรียนที่ว่าด้วย "จะทำให้สองสิ่งที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงเกิดความกลมกลืนหรือสมดุลกันได้อย่างไรในสภาวะที่เป็นอยู่" เช่น ทำไมเราถึงบิดตัวด้านซ้ายได้น้อยกว่าด้านขวา ทำไมเราถึงก้มตัวได้แต่แอ่นไม่ได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะทำให้ความแตกต่างระหว่างสองสิ่งนั้นเกิดความสมดุล เช่น เมื่อกินเข้าไป ก็ต้องถ่ายออกมา เมื่อนอนก็ต้องตื่น หากตัวเรามีความสมดุลแล้วก็จะสามารถปรับดุลยภาพเข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกได้ง่าย เปรียบเหมือนการทำตัวเหมือนน้ำที่ปรับเข้ากับภาชนะที่รองรับได้ทุกแบบ เริ่มจาก การดัดตัว เพื่อดัดใจให้อ่อนโยนเนื่องจากจิตใจบังคับยากแต่ร่างกายนั้นบังคับง่าย ดังนั้น หากบังคับลมหายใจได้ก็จะบังคับใจได้ จึงต้องเริ่มฝึกจากสิ่งที่หยาบที่สุดก่อน โยคะ คือ การปรับสมดุล ปรับสภาพของธาตุสี่ให้อยู่สายกลาง ต้องทำให้จิตใจและร่างกายสมดุลกันและไปด้วยกัน >>กายเคลื่อนไหว จิตใจสงบนิ่ง โดยมีลมปราณเป็นตัวประสาน

โยคะแบ่งเป็นสองประเภท คือ ราชาโยคะ และ หฐโยคะ

ราชาโยคะ (Raja yoga) 

เป็นโยคะภาคจิต เป็นโยคะชั้นสูง ฝึกให้มีจิตเมตตา มองสิ่งต่างๆเป็นแง่บวกเสมอ ฝึกวิปัสนา ฝึกให้จิตอยู่กับปัจจุบัน โยคีถือว่ามีความสำคัญน้อยกว่าการฝึกอาสนะเพราะใช้เวลาไม่นานในการฝึกหากร่างกายพร้อม จึงมีความสำคัญในตอนปลาย ซึ่งจะตรงข้ามกับความเห็นของคนทั่วไปที่ถือว่ามีความสำคัญตั้งแต่ต้น เพระาเมื่อจิตไม่ป่วยกายก็จะไม่ป่วยด้วย มีอยู่ทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่

1. ภักติโยคะ (Bhakti yoga) เป็นโยคะภาคศาสนา การบำเพ็ญเพียรในศาสนาของตนอย่างเคร่งครัด ความซื่อสัตย์ต่อสิ่งต่างๆที่เราทำ กลไกหรือวิธีการที่จะเข้าให้ถึงสภาวะสูงสุดของศาสนาที่เรานับถืออยู่

2. กรรมโยคะ (Karma yoga) เป็นการทำงาน การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบกิจกรรมใดๆก็ตามให้ตัวเองมีความสุข จิตใจว่างสงบ มองสิ่งต่างๆเป็นบวก เช่น พระกวาดลานวัด

3. มันตระโยคะ (Mantra yoga) เป็นกุศโลบายเพื่อทำให้จิตใจว่างแะสงบ เช่น การสวดมนต์ภาวนา

4. ตันตระโยคะ (Tantra yoga) เป็นพิธีกรรมของแต่ละศาสนา เป็นการเยียวยาทางใจ เช่น การก้มกราบพระ บายศรีสู่ขวัญ

5. ชาณะโยคะ (Jnana yoga) เป็นกลไกการดึงจิตให้มาอยู่กับปัจจุบัน เช่น 
ยุบหนอพองหนอ ซึ่งยังไม่ใช่สมาธิ เป็นเพียงการนั่งนิ่งๆพิจารณาสภาวะที่ปรากฎขึ้นมาก่อนเข้าสู่สมาธิเพื่อให้จิตมีฐานที่เกาะ

6. ลายาโยคะ (Laya yoga) เป็นการเรียนรู้พัฒนาทักษะ การเรียนสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้นควรฝึกกิจกรรมรองซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆเพื่อให้ร่างกายพัฒนาจะได้ไม่เสื่อม เช่น การเดินถอยหลัง เดินไปข้างๆ

หฐโยคะ (Hatha yoga)

เป็นโยคะภาคกาย คือ การฝึกฝนทางกายหรือฝึกอาสนะต่างๆเพื่อปรับดุลยภาพร่างกายให้คงทน ทนต่อโรคภัยไข้เจ็บ และให้สามารถดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้ รวมถึงการดูแลสุขภาพองค์รวม แบ่งเป็น 6 สาขา ได้แก่

1. อาสนะ (Asana) ได้แก่ ท่าทาง อิริยาบทต่างๆ ซึ่งมีอาสนะต่างๆมากมาย แต่อาสนะหลักจะมีทั้งหมด 32 อาสนะ ซึ่งเป็นอาสนะในการบำบัดรักษา นอกนั้น เป็นอาสนะที่กระจายออกไป

**การที่ตัวจะอ่อนหรือไม่ขึ้นอยุ่กับโครงสร้างร่างกายและสภาพจิตใจ เช่น ถ้าเครียดก็จะทำให้ร่างกายเกร็งตึงไปด้วย ควรเน้นที่การฝึกจิตใจมากกว่าดัดตัวให้อ่อน**

2. ปราณายามะ (Pranayama) เป็นกระบวนการพัฒนาบริหารลมปราณหรือลมหายใจ ในร่างกายเรา ลมปราณเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพระาเป็นตัวประสานระหว่างร่างกายและจิตใจ ปราณเป็นพลังชีวิต มีเป็นพันๆปราณให้ฝึก ต้องระวังอย่าฝึกแรงเกินไป หากจะฝึกปราณขั้นสูงควรมีครูแนะนำ

3. กุณฑลินี (Kundalini) หรือจักระโยคะ เป็นวิชาพลังงานซึ่งเกิดจากปราณและจิตที่นิ่งสงบ เป็นกระบวนการฝึกร่างกาย ลมปราณ และจิต เพื่อดึงเอาพลังงานที่ซ่อนอยุู่ในร่างกายของเราออกมาใช้ (คนทั่วไปจะดึงพลังงานในกายมาใช้ได้เพียง 8% และคนที่แข็งแรงจะดึงมาใช้ได้ 10% เท่านั้น) มีอยู่เจ็ดฐานใหญ่ตรงแนวกระดูกสันหลัง

4. กันธาวะโยคะหรือคนธรรพ์เวทย์ เป็นวิชาดนตรีที่จะถ่ายทอดเฉพาะในหมู่หรือกลุ่มเท่านั้น เป็นดนตรีบรรเลงทีใช้ในการบำบัด เพื่อให้เสียงบรรเลงเข้ากับคลื่นคอสมิคเพื่อปรับดุลยภาพร่างกายและจิตใจให้สมดุลกัน ซึ่งการฟังดนตรีนี้จะต้องฟังตามเวลา เปิดตาม"ปรหัส" มีทั้งหมดแปดปรหัส 

5. กริยาโยคะ (Kriya yoga) เป็นกระบวนการทำความสะอาดร่างกายหรือดีท็อกซ์ มีอยู่หลายวิธี ได้แก่ Brasti, Doti (การกลืนผ้า), Jala Neti (การล้างจมูก), Sutra Neti (การทำความสะอาดจมูกโดยใช้เชือก), Kunjal (การล้างลำไส้)

6. กรรมโยคะ (Karma yoga) เหมือนกับของราชาโยคะ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น