คำว่า ปราณายามะ (Pranayama) ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ปราณ (Prana) หมายถึง "สิ่งที่มีอยู่นับไม่ถ้วนทุกหนทุกแห่ง"และ อายามะ (Ayama) หมายถึง "ยืด"หรือ "ขยาย" ในกรณีของมนุษย์ ปราณหมายถึงอะไรบางอย่างที่ไหลเวียนอย่างต่อเนื่องจากศูนย์กลางออกไปสู่ร่างกายทั้งหมด เพื่อรักษาให้เรามีชีวิต โยคสูตร กล่าวว่า คนที่ประสบความยุ่งยาก กระวนกระวาย สับสนหรือไม่สบาย จะมีปราณอยู่นอกร่างกายมากกว่าในร่างกาย (ภาพที่ 1) การที่มีปราณในร่างกายน้อยเกินไปจะแสดงออกมาในรูปของความรู้สึกอึดอัดหรือถูกจำกัด รวมทั้งการขาดแรงกระตุ้นหรือไม่มีแรงจูงใจที่จะทำอะไร รู้สึกเฉื่อยชาหรือซึมเศร้า และอาจมีการเจ็บป่วยทางกาย ตรงกันข้าม ยิ่งเรามีความสงบและสมดุลมากเท่าไร ปราณจะยิ่งอยู่ในร่างกายมากขึ้นเท่านั้น (ภาพที่ 2)
สาเหตุที่ทำให้ปราณไม่สามารถหาที่ว่างในร่างกายได้เพียงพอมีอย่างเดียว คือ มันถูกผลักออกไปด้วยของเสีย สิ่งที่เราพยายามทำในขณะฝึกปราณายามะคือการลดของเสียนี้และทำให้มีปราณในร่างกายมากขึ้นนั่นเอง
สภาพจิตใจของเราจะสัมพันธ์กับคุณภาพของปราณที่อยู่ภายในอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเราสามารถมีส่วนกำหนดการไหลเวียนของปราณผ่านการไหลเวียนของลมหายใจ คุณภาพของการหายใจจะมีผลต่อจิตใจ ในทางกลับกันสภาพจิตใจก็จะมีผลต่อคุณภาพของการหายใจ เช่น เราจะหายใจเร็วเวลาตื่นเต้นและจะหายใจได้ลึกและเงียบเวลาผ่อนคลาย ในโยคะ เราพยายามใช้การเชื่อมโยงนี้เพื่อให้ปราณรวมกันและไหลเวียนภายในตัวเราอย่างอิสระ โยคี คือ คนที่มีปราณทั้งหมดอยู่ในร่างกาย ในปราณายามะ เราต้องการที่จะลดปริมาณของปราณนอกร่างกายจนไม่มีปราณรั่วไหลออกไปได้เลย
การจะควบคุมปราณของเราได้ เราจะต้องควบคุมจิตใจของเราให้ได้ การกระทำของเรามักทำให้จิตถูกรบกวนทำให้ปราณเคลื่อนออกจากกาย การฝึกปราณายามะทุกวันจะทำให้เราย้อนกลับกระบวนการนี้ ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแบบแผนการหายใจจะมีผลต่อจิตใจ การเชื่อมโยงระหว่างจิตใจและลมหายใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โยคสูตรกล่าวว่า เมื่อเราฝึกปราณายามะ ความคลุมเครือจะค่อยๆถูกขจัดออกจากจิตใจและความชัดเจนจะพัฒนาขึ้น จิตใจจะพร้อมสำหรับการทำสมาธิที่ลึกซึ้ง ปราณายามะ คือ การตระหนักรู้อย่างแรกสุดและสำคัญที่สุดเกี่ยวกับการหายใจ
ในการฝึกปราณายามะการรักษาจิตใจให้ตื่นตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากกระบวนการที่กำลังถูกสังเกตนั้นมีความละเอียดมาก ไม่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายที่สามารถมองเห็นได้เหมือนกับตอนที่ฝึกอาสนะ เราจะต้องมีสัมผัสที่ไวและรู้สึกถึงการหายใจที่อยู่ภายใน เป้าหมายที่แท้จริงของวิธีการต่างๆและสัดส่วนของการหายใจในปราณายามะอย่างแรกและสำคัญที่สุด คือ เปิดโอกาสให้เราตามลมหายใจ เมื่อเราตามลมหายใจ จิตใจจะถูกโน้มนำมาอยู่กับการหายใจ ด้วยวิธีนี้ปราณายามะจะช่วยเตรียมความพร้อมของเราสำหรับการทำสมาธิแบบนิ่งๆ
ปราณไม่ได้เข้าสู่ร่างกายเราทุกครั้งที่หายใจเข้า แต่จะเข้าสู่ร่างกายเราต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจิตใจในทางบวก สภาพจิตใจของเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่หายใจเข้าหรือออก การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง ถ้าเรากำลังฝึกปราณายามะและสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของจิตใจ แสดงว่าปราณได้เข้าสู่ร่างกายไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว
ปราศจากปราณก็ไม่มีชีวิต ปราณเข้าสู่ตัวเราขณะหายใจเข้า ปราณถูกเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายให้กลายเป็นพลังต่างๆด้วย อีกทั้งมีส่วนในการกำจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับเราออกไป พลังของปราณยังทำให้จิตใจเป็นอิสระจากการอุดตันต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงทำให้เรามีความชัดเจนขึ้น การหายใจออกจะปลดปล่อยสิ่งที่ไม่ต้องการและกำจัดสิ่งที่จะกลายเป็นเครื่องกีดขวางเพื่อการไหลเวียนอย่างอิสระของปราณที่อยู่ภายใน
คนที่มีลมหายใจสั้น ไม่สามารถกลั้นหายใจได้ หรือไม่สามารถหายใจออกอย่างช้าๆ แสดงว่ามีของเสียในร่างกายมากเกินไปซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นในร่างกายทุกส่วน เราจะต้องลดของเสียเหล่านี้เพื่อให้ปราณเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น
มารู้จักกับปราณแรกในตอนต่อไปกันนะคะ
อ้างอิง : The Heart of Yoga
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น